ข่าวไม้ทั่วโลก

กว่างซีเพิ่มโอกาสธุรกิจไม้ไทยในตลาดจีน

Update: 14/3/2025

เมื่อวันที่ 23 – 25 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมางาน The 2024 World Forestry Products And Wood Products Exhibition จัดขึ้นที่ศูนย์จัดแสดงสินค้านานาชาติ เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน พื้นที่จัดแสดงงานกว่า 50,000 ตารางเมตร สินค้าที่จัดแสดงเป็นผลิตภัณฑ์ไม้และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ประกอบด้วย แผงไม้ เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ และเครื่องจักรสำหรับป่าไม้ เป็นต้น โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 ราย

ความเคลื่อนไหวสำคัญด้านอุตสาหกรรมไม้ยางพาราไทย-จีน

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 มีการจัดงาน “2024 Rubber Wood Global Industry Chain Innovation and Development Conference” ควบคู่กับงาน “The 2024 World Forestry Products and Wood Products Exhibition” โดยมีผู้แทนจากสมาคมไม้ยางพาราไทย กลุ่มอุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมงาน และได้กล่าวแนะนำสถานการณ์อุตสาหกรรมไม้ยางพาราไทย รวมถึงศักยภาพในการส่งออกสู่ตลาดโลก ในโอกาสเดียวกัน สมาคมไม้ยางพาราไทย และบริษัท Guangxi Tongzhou Holding Co., Ltd. ของจีน ได้ลงนามในกรอบความร่วมมือจัดตั้ง “ฐานสำรองวัตถุดิบไม้ยางพารานานาชาติอ่าวเป่ยปู้” เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในอุตสาหกรรมไม้ยางพาราระหว่างไทยกับจีน พร้อมผลักดันการก่อสร้างพื้นที่ค้าขายและกระจายไม้ยางพาราในเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้

ภาพรวมการนำเข้าไม้แปรรูปจากไทยสู่ตลาดจีน

ในปี 2566 จีนมีการนำเข้าไม้แปรรูปจากกลุ่มไม้ใบกว้าง (Broad-leaved trees) ในแถบฤดูร้อน ปริมาณรวม 6.913 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 9% คิดเป็นมูลค่า 1,923 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.8% ซึ่งไม้กลุ่มนี้คิดเป็น 25% ของปริมาณไม้แปรรูปนำเข้าทั้งหมดของจีน ประเทศไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งของจีน โดยในปี 2566 จีนได้นำเข้าไม้แปรรูปจากไทยปริมาณ 4.497 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 17% คิดเป็นมูลค่า 1,084 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 10% คิดเป็นสัดส่วน 65% ของปริมาณนำเข้าทั้งหมดในกลุ่มนี้ อันดับรองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ และแอฟริกา

ไม้ยางพารา: พลังหลักในกลุ่มไม้ใบกว้าง

ไม้ยางพาราแปรรูปถือเป็นประเภทที่จีนมีการนำเข้ามากที่สุดในกลุ่มไม้ใบกว้าง โดยในปี 2566 จีนมีการนำเข้าไม้ยางพาราแปรรูป 4.5 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9.6% หรือคิดเป็น 50% ของการนำเข้าทั้งกลุ่ม ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 จีนนำเข้าไม้ยางพาราแปรรูปจากไทย 3.83 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 15.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ขณะเดียวกัน การนำเข้าไม้แผ่นปาร์ติเกิล (Particle board) อยู่ที่ 190,000 ตัน (+3.8%) และไม้วีเนียร์ (Wood veneer) จากไม้ยางพารา 128,000 ตัน (+84.7%) ไม้ยางพาราที่นำเข้าจากไทยถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแข็ง การตกแต่งบ้าน บานประตู ตู้ห้องน้ำ พื้นไม้ บันได และงานอื่นๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดนี้

ชินโจว: ประตูการค้าสำคัญของไม้ไทยสู่จีน

จีนมีการนำเข้าไม้เป็นหลักผ่านเส้นทางทางเรือ โดยใช้ท่าเรือในเมืองใหญ่ เช่น มณฑลกวางตุ้ง ซานตง เทียนจิน ฝูเจี้ยน กว่างซี และไห่หนาน โดยเฉพาะท่าเรือ ชินโจว ในเมืองชินโจว มณฑลกว่างซี เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากใช้เวลาขนส่งจากไทยเพียง 3-4 วัน เมืองชินโจวยังเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญกับกลุ่มประเทศอาเซียน ทำให้จีนให้การสนับสนุนการพัฒนาเขตการค้าไม้นำเข้า ณ เมืองนี้อย่างจริงจัง ศูนย์ค้าขายไม้นำเข้า ได้ถูกก่อสร้างภายในเขตสินค้าทัณฑ์บนของท่าเรือชินโจว มีพื้นที่ 175.16 หมู่จีน (ประมาณ 73.57 ไร่) ใช้เงินลงทุนราว 349 ล้านหยวน ครอบคลุมบริการด้านโลจิสติกส์ การจัดแสดงไม้ คลังสินค้า การแปรรูป การเงิน และการค้าขาย โดยเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 และได้นำเข้าไม้ล็อตแรกน้ำหนัก 1,026 ตัน (38 ตู้คอนเทนเนอร์) ถือเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการค้าระหว่างประเทศ

การพัฒนาระบบซื้อขายล่วงหน้าไม้ซุงในจีน

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าแห่งเมืองต้าเหลียน (Dalian Commodity Exchange) ได้ประกาศเปิดให้จัดส่งไม้ซุงล่วงหน้าเข้าสู่ตลาดอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป โดยได้แต่งตั้งให้บริษัท Guangxi Qinzhou Bonded Port Area Jushen International Logistics Co., Ltd. เป็น 1 ใน 9 คลังสินค้าที่ได้รับอนุญาตให้จัดเก็บและส่งมอบไม้ซุงล่วงหน้า ซึ่งถือเป็นคลังแห่งแรกในมณฑลกว่างซี และแห่งแรกในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ระบบนี้จะช่วยให้สามารถส่งมอบไม้ซุงให้กับผู้ซื้อได้โดยตรงจากคลังสินค้า ลดขั้นตอนการดำเนินการ เพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง และช่วยลดต้นทุนสำหรับภาคอุตสาหกรรมแปรรูปไม้

โอกาสของอุตสาหกรรมไม้ไทย โดยเฉพาะไม้ยางพารา

จากการประเมินของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง พบว่า มณฑลกว่างซีซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของจีน มีเขตแดนติดกับประเทศอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเล มีความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ด้านการนำเข้าไม้จากประเทศในภูมิภาคอาเซียน กว่างซียังเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีทรัพยากรไม้มากที่สุดของจีน และกำลังเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ให้เป็นคลัสเตอร์ครบวงจร ตั้งแต่แผงไม้ เยื่อกระดาษ ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์คุณภาพสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการไทย:
ควรติดตามสถานการณ์และกิจกรรมในอุตสาหกรรมไม้ที่จัดขึ้นในจีนอย่างใกล้ชิด
พิจารณาใช้ท่าเรือชินโจวเป็นช่องทางหลักในการส่งออก เนื่องจากมีข้อได้เปรียบด้านโลจิสติกส์และต้นทุน
ศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะไม้บางชนิดที่เป็นไม้หวงห้าม
แม้ไม้ยางพาราจะสามารถส่งออกได้โดยไม่จำกัดปริมาณ แต่ยังคงต้องมีใบอนุญาตและหนังสือรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ กรมการค้าต่างประเทศ และกรมศุลกากร

แหล่งข้อมูล

http://www.dce.com.cn/dalianshangpin/ywfw/jystz/ywtz/8623524/index.html
http://www.gx.chinanews.com.cn/mt/2024-12-12/detail-ihekueyw6158288.shtml
http://www.gx.chinanews.com.cn/mt/2024-12-12/detail-ihekueyw6158020.shtml https://mp.weixin.qq.com/s/RtByrP1lqRX2-n_bFWEiLg
https://mp.weixin.qq.com/s/AnLaFCzrm0o_2oTdjEVi5A
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง

ไม้แผ่นใหญ่ ไม้แผ่นเดียว
หน้าหลักร้านค้า
ไม้แผ่นใหญ่
ไม้แผ่นใหญ่
หน้าหลัก
หน้าหลัก